|
พระพุทธชยันตีศรีเมืองงาย (ตุ๊เจ้าตนหลวง) พระธาตุปู่ก่ำ
พระพุทธชยันตีศรีเมืองงาย (ตุ๊เจ้าตนหลวง) พระธาตุปู่ก่ำ “บ้านเมืองงาย” จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่น่านับถือ ได้เล่าว่า มีผู้มาตั้งถิ่นฐานในเขตบ้านเมืองงายนี้เรียกว่า ชาวโยนก เขาเรียกตนเองว่า "คนเมือง" หรือ "ชาวเมือง" อพยพมาจากถิ่นใดไม่ปรากฏ เริ่มแรกในการตั้งถิ่นฐานมีประมาณ 30 กว่าครอบครัวมีหัวหน้าหมู่บ้านชื่อ "ปู่ก่ำ" ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงและอยู่ทางทิศเหนือของแม่น้ำงายปัจจุบันนี้เรียกว่า "บ้านสันป่าไหน่" ต่อมามีพระภิกษุรูปหนึ่ง ได้เดินทางมาธุดงค์มาปักกลดอยู่ริมท่าน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้านนี้ ชาวบ้านจึงพากันไปทำบุญตักบาตร โดยมีปู่ก่ำเป็นผู้นำ พระธุดงค์ได้รับความสะดวกและง่ายต่อการปฏิบัติการบำเพ็ญกิจวัตร ชาวบ้านมีความเลื่อมใสพระองค์นี้มากจึงได้นิมนต์ท่านจำพรรษาอยู่ในหมู่บ้านนี้แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเพราะท่านต้องการออกเผยแพร่ศาสนาไปยังที่อื่นๆต่อไปอีกก่อนพระธุดงค์จะจากไปจึงได้มอบพระเกศาให้ปู่ก่ำไว้ เพื่อเป็นที่เคารพสักการบูชาปู่ก่ำพร้อมด้วยชาวบ้านจึงได้พร้อมใจกันสร้างเจดีย์บรรจุพระเกศาของพระธุดงไว้บนยอดดอย อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านพร้อมทั้งตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แก่ปู่ก่ำว่า "พระธาตุปู่ก่ำ" และได้จัดประเพณีทำบุญ (ประเพณีสรงน้ำพระธาตุฯ) เป็นประจำทุกปี มาตราบ ทุกวันนี้ เอกสารอ้างอิง(เบิกฟ้าเชียงดาว.สภาวัฒนธรรมอำเภอเชียงดาว,สำนักงานศึกษาธิการอำเภอเชียงดาว ,พิมพ์ครั้งที่ 2/2545 ,นพบุรีการพิมพ์. หน้า 21 )
03 เมษายน 2564
|